ซอฟต์แวร์ (Software) คืออะไร ? มีแบบไหนบ้าง

Software Development
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ซอฟต์แวร์ (Software) กลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในทุกกิจกรรม ตั้งแต่การทำงาน การศึกษา ไปจนถึงความบันเทิง แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ซอฟต์แวร์คืออะไร และมีประเภทใดบ้าง บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับซอฟต์แวร์อย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างที่เข้าใจง่าย
ซอฟต์แวร์ (Software) คืออะไร?
ซอฟต์แวร์ คือ ชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ผู้ใช้ต้องการ โดยที่ซอฟต์แวร์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ประเภทของซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software)
ซอฟต์แวร์ระบบ คือโปรแกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมและจัดการการทำงานของฮาร์ดแวร์ภายในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อัจฉริยะ รวมถึงเป็นรากฐานที่ช่วยให้ซอฟต์แวร์อื่น ๆ (เช่น ซอฟต์แวร์ประยุกต์) สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ กล่าวอีกแบบคือ เป็น “กลไกเบื้องหลัง” ที่ทำให้ทุกโปรแกรมสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น
ซอฟต์แวร์ระบบทำงานในระดับ “เบื้องหลัง” และมักไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้ทั่วไปจะต้องเข้าไปจัดการโดยตรง แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของทั้งระบบ
จุดเด่นของ ซอฟต์แวร์ระบบ คือ
- ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์: ช่วยให้คอมพิวเตอร์สื่อสารกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น CPU, RAM, พริ้นเตอร์ หรือดิสก์ไดรฟ์
- เป็นพื้นฐานของซอฟต์แวร์อื่น ๆ: แอปพลิเคชันทุกตัวต้องทำงานผ่านระบบปฏิบัติการ เช่น Windows หรือ macOS จึงถือเป็นรากฐานของระบบทั้งหมด
- เพิ่มความเสถียรให้กับระบบ: ช่วยจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล ลดปัญหาเครื่องค้างหรือทำงานผิดพลาด
- รองรับการทำงานหลายโปรแกรม: ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานหลายโปรแกรมพร้อมกันได้อย่างลื่นไหล (Multitasking)
ตัวอย่าง ซอฟต์แวร์ระบบ คือ
- ระบบปฏิบัติการ (Operating System): เป็นซอฟต์แวร์หลักที่ทำหน้าที่จัดการทรัพยากรของคอมพิวเตอร์ เช่น Windows, macOS, Linux, Android, iOS เป็นต้น
- โปรแกรมอรรถประโยชน์ (Utility Programs): เป็นโปรแกรมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมป้องกันไวรัส, โปรแกรมสำรองข้อมูล, โปรแกรมบีบอัดไฟล์ เป็นต้น
- ตัวแปลภาษา (Language Translators): เป็นโปรแกรมที่แปลคำสั่งจากภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจ เช่น คอมไพเลอร์ (Compiler) และ อินเตอร์พีทเตอร์ (Interpreter)

2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software)
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือ โปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถดำเนินงานเฉพาะด้านได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ โดยซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะต้องทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ (Operating System) ซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานให้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นบนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต
จุดเด่นของ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือ :
- พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะ เช่น งานเขียนเอกสาร การวาดภาพ การจัดการฐานข้อมูล ฯลฯ
- มีให้เลือกใช้งานหลากหลาย ทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบเฉพาะทางที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการขององค์กร
- ใช้งานง่าย มีอินเทอร์เฟซที่ออกแบบให้เข้าถึงผู้ใช้ทั่วไป
ตัวอย่าง ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือ
- โปรแกรมประมวลคำ (Word Processor): เช่น Microsoft Word, Google Docs ใช้สำหรับการสร้างและแก้ไขเอกสาร
- โปรแกรมสเปรดชีต (Spreadsheet): เช่น Microsoft Excel, Google Sheets ใช้สำหรับการคำนวณและจัดการข้อมูลในรูปแบบตาราง
- โปรแกรมนำเสนอ (Presentation Software): เช่น Microsoft PowerPoint, Google Slides ใช้สำหรับการสร้างสื่อการนำเสนอ
- โปรแกรมกราฟิก (Graphics Software): เช่น Adobe Photoshop, CorelDRAW ใช้สำหรับการออกแบบและแก้ไขภาพ
- โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser): เช่น Google Chrome, Mozilla Firefox ใช้สำหรับการท่องอินเทอร์เน็ต
สรุป
ซอฟต์แวร์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบที่ทำหน้าที่ควบคุมและจัดการการทำงานของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานเฉพาะด้านได้ตามความต้องการ ความเข้าใจในประเภทและบทบาทของซอฟต์แวร์จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ซอฟต์แวร์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น